วิธีจับคู่ ‘เสื้อเชิ้ต’ กับ ‘เนกไท’ ให้ดูดีแบบผู้ชายมีสไตล์
เสื้อเชิ้ตสีขาว จับคู่กับ เนกไทสีพื้นหรือมีลวดลายน้อยๆ
ถ้าชอบใส่เสื้อเชิ้ตสีขาว การเลือกเนกไทจะง่ายมากๆ เพราะเราจะสามารถใส่เนกไทได้หลากหลายแบบ แต่ที่ดีที่สุดคือเลือกใส่เนกไทที่มีสีพื้น จะเป็นสีไหนก็ได้แทบทั้งสิ้น แต่ขอให้เน้นโทนสีที่เข้ม มากกว่าโทนสีสว่างๆที่จะกลืนกับเสื้อเชิ้ตมากเกินไป หรือถ้าชอบเนกไทแบบมีลวดลายก็ขอให้มีแค่นิดเดียวก็พอ ด้วยเหตุผลที่ว่าการมีเสื้อเชิ้ตสีขาวเป็นพื้นหลังจะทำให้สีและลวดลายบนเนกไทของคุณโดดเด่นเห็นได้ชัดมากๆ ดังนั้นถ้าใส่เนกไทที่มีลวดลายเยอะเกินไปก็จะกลายเป็นว่าทุกสายตาจะพุ่งไปที่เนกไทเป็นอันดับแรกกันหมด ซึ่งเราควรจะให้เครื่องแต่งกายของเรากลมกลืนกัน ไม่ใช่แย่งความเด่นกันเองครับ
อย่างที่สองก็คือ ใช้วงล้อเทียบสีให้เป็นประโยชน์ครับ สีที่อยู่ขั้วตรงข้ามกันบนวงล้อสี มักจะเข้ากันหรือตัดกันได้ดีและสามารถนำมาจับคู่สีเสื้อเชิ้ตกับเนกไทได้ครับ ตัวอย่างเช่น เสื้อเชิ้ตสีฟ้า จับคู่กับเนกไทสีส้มเข้มหรือสีอิฐ เป็นต้น ข้อควรระวังก็คืออย่าใช้สีที่มีความสว่างหรือเข้มใกล้เคียงกันถึงแม้จะอยู่ตรงข้ามกันบนวงล้อสีก็ตาม เช่น เสื้อเชิ้ตสีน้ำเงินเข้มก็จะดูไม่เข้ากับเนกไทสีส้มเข้มๆเท่าไหร่นักครับ ดังนั้นถ้าจะให้ดี MenDetails แนะนำว่าหากต้องการใส่เนกไทด้วย ก็ควรเลือกใส่เสื้อเชิ้ตที่มีสีสว่างๆ จะทำให้มีตัวเลือกในการใส่เนกไทมากกว่าเสื้อเชิ้ตสีมืดๆเข้มๆนะครับ
เสื้อเชิ้ต Chambray หรือ Oxford Cloth จับคู่กับ เนกไทผ้าวูลหรือผ้าที่มีพื้นผิวขรุขระเป็นลวดลาย
เสื้อเชิ้ตที่มีเนื้อผ้าแบบ Chambray หรือ Oxford Cloth จะมีเนื้อผ้าที่มีพื้นผิว หรือ texture มากกว่าเสื้อเชิ้ตที่เป็น dress shirt จึงเป็นเสื้อเชิ้ตที่เหมาะกับบรรยากาศที่ไม่เป็นทางการ เมื่อเป็นแบบนี้การเลือกเนกไทก็ต้องให้เข้ากันกับเสื้อเชิ้ตที่ใส่ จึงไม่ควรใส่เนกไทที่มีลักษณะเป็นผ้าไหมมันๆลื่นๆ แต่ควรเป็นเนื้อผ้าที่มี texture มากขึ้น เช่น เนกไทที่ทำจากผ้าวูล หรือผ้า flannel สีเข้ม เพื่อให้กลมกลืนกันกับเสื้อเชิ้ตที่มี texture ที่เราใส่อยู่ครับ ส่วนเรื่องการเลือกสีก็ใช้หลักการเดียวกันกับข้อข้างบนด้วยการใช้วงล้อเทียบสีให้เป็นประโยชน์ครับ
เสื้อเชิ้ตมีลวดลาย จับคู่กับ เนกไทมีลวดลาย
เมื่อมีลวดลายเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้ชายก็ต้องระมัดระวังในการเลือกจับคู่เสื้อเชิ้ตกับเนกไทมากขึ้น หลักการในการจับคู่ลวดลายบนเสื้อเชิ้ตกับเนกไทแบบง่ายๆก็คือ “ลวดลายขัดกัน แต่สีเข้ากัน” เช่น หากคุณใส่เสื้อเชิ้ตลายทางแนวตั้งช่องไฟเล็กๆ เนกไทก็ควรเป็นแนวทะแยงมุมเฉียงๆที่มีช่องไฟใหญ่เพื่อให้ขัดหรือตรงข้ามกับลายของเสื้อเชิ้ต หรือถ้าหากเสื้อเชิ้ตเป็นลายตารางสี่เหลี่ยม ก็ลองจับคู่กับเนกไทที่มีลายจุดกลมๆ ก็จะเป็นลวดลายที่ขัดกันแต่เข้ากันได้ดี ส่วนเรื่องของสีก็ยังคงใช้หลักการของวงล้อเทียบสีให้เป็นประโยชน์เช่นเดิม แค่นี้เราก็จะจับคู่เสื้อเชิ้ตและเนกไทที่มีลวดลายได้อย่างปลอดภัย ไม่แต่งตัวออกมาลายพร้อยแบบมั่วๆเหมือนเป็นภาพสามมิติครับ
บทความจาก www.mendetails.com